วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความระงับสัญญาค้ำประกันม.๖๙๘-๗๐๑



หมวด ๔
ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน

          มาตรา ๖๙๘  อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อ[1]หนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ
          มาตรา ๖๙๙  การค้ำประกัน[2]เพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
          ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำบอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้
          มาตรา ๗๐๐  ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ [3]เวลามีกำหนดแน่นอนและ[4]เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด
          แต่ถ้าผู้ค้ำประกัน[5]ได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลา ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นจากความรับผิดไม่
          มาตรา ๗๐๑  ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้
          ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด


[1] หนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไป ๕ ประการ ๑.การชำระหนี้ ๒.ปลดหนี้ ๓.หักกลบลบหนี้ ๔.แปลงหนี้ใหม่ ๕.หนี้เกลื่อนกลืนกัน
[2] ข้อสำคัญ หนี้ที่ค้ำประกันนั้นจะต้องมีลักษณะเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว และต้องเป็นกรณีที่กิจการนั้นไม่มีเวลาจำกัด
[3] หมายถึง  หนี้ที่ได้มีการกำหนดเวลาไว้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เมื่อใด
[4] หมายถึงมีการตกลงกันแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องไม่ได้ กรณีไม่ใช่การผ่อนเวลา   กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเจ้าหนี้มิได้เรียกร้องหรือฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ทันที่ (เป็นเรื่องลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเอง และเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้) ,  การที่ลูกหนี้ขอผลัดชำระหนี้หรือทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยเจ้าหนี้มิได้ตกลงยินยอมด้วย  , 
[5] การตกลงผู้ค้ำจะตกลงกับเจ้าหนี้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาค้ำประกันหรือตกลงกันเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระแล้วก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น