หมวด ๓
ผลภายหลังชำระหนี้
มาตรา ๖๙๓ ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว
ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้
เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย
มาตรา ๖๙๔ นอกจาก[1]ข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น
ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยก[2]ข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
มาตรา ๖๙๕ ผู้ค้ำประกันซึ่ง[3]ละเลยไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้น
ท่านว่าย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่[4]ลูกหนี้เพียงเท่าที่ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เช่นนั้น และที่ไม่รู้นั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของตนด้วย
มาตรา ๖๙๖ ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้
ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอกลูกหนี้
และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก
ในกรณีเช่นว่านี้
ผู้ค้ำประกันก็ได้แต่เพียงจะฟ้องเจ้าหนี้เพื่อคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
มาตรา ๖๙๗ ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดีจำนองก็ดี
จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น
ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น
[1]
ข้อต่อสู้ผู้ค้ำ เช่น
ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ,สัญญาค้ำประกันไม่ได้ติดอากรแสตมป์ , ขาดอายุความ
,ผู้ค้ำได้บอกเลิกการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว
,เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ (ทั้งนี้ต้องไม่มีข้อตกลงในสัญญายกเว้นไว้)
[2]
ข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่สำคัญ เช่น ขาดอายุความ
หนี้ได้ระงับไปแล้ว(ปลดหนี้ หักกลบลบหนี้ แปลงหนี้)
[3]
ละเลย หมายถึง รู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อต่อสู้ของลูกหนี้
แต่ไม่ยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ และข้อต่อสู้ที่ละเลยยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้น
ต้องเป็นข้อต่อสู้ของลูกหนี้
ดังนั้นหากเป็นข้อต่อสู้ของผู้ค้ำ แต่ไม่ยกก็ไม่เข้ามาตรานี้ ผลคือ
เรียกได้
[4]
มาตรานี้เป็นสิทธิเฉพาะลูกหนี้ที่จะยกขึ้นอ้าง
หากเป็นบุคคลอื่นไม่มีสิทธิ เช่น ผู้ค้ำประกันของผู้ค้ำต่อเจ้าหนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น